การลงทุนทุกประเภทย่อมมีความเสี่ยง ไม่เว้นแม้แต่การลงทุนในกองทุนรวม วันนี้ทางเรามีเคล็ดลับ ในการกระจายความเสี่ยงมาบอกกับทุกคนกัน
สารบัญ
- มารู้จักการกระจายความเสี่ยงกัน
- หลักการกระจายความเสี่ยงแบบมือโปร
- 6 ความเสี่ยงในการลงทุนกองทุนรวมมีอะไรบ้าง
- ระดับความเสี่ยงของกองทุนแต่ละประเภท
- แนวทางการลดความเสี่ยงในการลงทุนกองทุนรวม
- จัดการพอร์ตกองทุนรวมยังไง ให้กระจายความเสี่ยงได้ดี
- ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวม
- ปัญหาที่อาจพบเจอของกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวม
- สรุป
มารู้จักการกระจายความเสี่ยงกัน

“อย่าวางไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าเดียว” ประโยคเด็ดของ Warren Buffet นักธุรกิจระดับโลกที่พูดถึงเรื่องการกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) เอาไว้
หากเปรียบไข่เป็นเงินทุนของเรา แล้วตะกร้าคือธุรกิจหรือสิ่งที่เรานำไปลงทุน การนำเงินทั้งหมดไปลงทุนไว้ในที่เดียวย่อมมีความเสี่ยงที่มากกว่าหากธุรกิจหรือสิ่งที่เราลงทุนไว้เกิดล้มขึ้นมาเราจะสูญเสียเงินลงทุนทั้งหมดไป ดังนั้นควรนำเงินลงทุนกระจายไว้ในหลายๆ ที่หากที่ใดที่หนึ่งไม่ประสบผลสำเร็จ ก็ยังมีเงินทุนอีกที่เหลืออยู่ โดยวิธีรับมือกับความเสี่ยงมีด้วยกัน 3 วิธีใหญ่ๆ คือ

-
หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Avoid Risk)
คือ การหลีกเลี่ยงหรือหยุดการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง เช่น ไม่ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงหรือธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง
-
การลดความเสี่ยง (Reduce Risk)
เป็นการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุน เช่น ลดขนาดเงินลงทุนให้น้อยลงหรือศึกษาการลงทุนให้รอบคอบก่อนการตัดสินเพื่อลดความเสี่ยง
-
การโยกย้ายความเสี่ยงไปยังที่อื่น (Transfer Risk)
เป็นการหาตัวเลือกที่จะช่วยให้เกิดความเสียหายน้อยลงหากเกิดการขาดทุน เช่น การซื้อประกันเพื่อให้ประกันไช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายแทน
หลักการกระจายความเสี่ยงแบบมือโปร
การลงทุนที่ไม่นำเงินลงทุนทั้งหมดไปลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เลือกลงทุนกระจายไปในธุรกิจหรือสินทรัพย์หลายๆ ตัว เรียกว่า “การกระจายความเสี่ยง” โดยมีหลักการในกระจายความเสี่ยงดังนี้

-
การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนหลายสินทรัพย์
นักลงทุนที่ดีควรกระจายการลงทุนไปในหลายๆ สินทรัพย์เช่น หุ้น, ตราสารหนี้, กองทุนหรืออสังหาริมทรัพย์ โดยอาจจะเลือกตามความถนัดหรือความชอบในการลงทุนของแต่ละคน
-
ไม่ควรกระจุกการลงทุนไว้ในประเทศของเรา
นอกจากกระจายความเสี่ยงไปในหลายสินทรัพย์แล้ว นักลงทุนมือโปรควรมีการกระจายการลงทุนไปในหลายประเทศด้วย เพื่อจะได้หาตลาดที่น่าสนใจของแต่ละประเทศและยังสามารถเลือกลงทุนในประเทศที่มีเศรษฐกิจดีๆ ได้อีกด้วย
-
ทำการลงทุนด้วยกลยุทธ์ DCA (Dollar-Cost Averaging)
โดยปกตินักลงทุนมักชอบการจับจังหวะซื้อ-ขาย (Time the Market) หรือการรอจังหวะที่ดีในการลงทุน แต่โอกาสที่จะจับจังหวะซื้อ-ขายได้ถูกทุกครั้งและทำกำไรได้ยังมีโอกาสน้อยมาก การทำ DCA จึงเป็นตัวเลือกที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ เพราะการทำ DCA เป็นการลงทุนอย่างเป็นระบบในจำนวนเงินที่เท่าๆ กันทุกเดือนโดยไม่คำนึงถึงภาวะตลาด ช่วยราคาเฉลี่ยของหลักทรัพย์ไม่สูงจนเกินไป
6 ความเสี่ยงในการลงทุนกองทุนรวมมีอะไรบ้าง

ความเสี่ยงจากการกองทุนรวมมีได้หลากหลายปัจจัย โดยปัจจัยส่วนใหญ่ของการลงทุนในกองทุนรวมมีดังนี้
1.ความเสี่ยงจากการผันผวนของดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)
- เป็นความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมต้องเจอ
- เมื่อดอกเบี้ยในตลาดมีการเปลี่ยนแปลง จะส่งผลกระทบต่อหลักทรัพย์อื่นๆ ที่กองทุนรวมลงทุนอยู่
- โดยการเปลี่ยนแปลงจะมีทิศทางตรงข้ามกับอัตราดอกเบี้ย เช่น เมื่ออัตราดอกเบี้ยสูงแต่มูลค่ากองทุนจะต่ำลง
2.ความเสี่ยงการเปลี่ยนแปลงของการเมือง (Political Risk)
- การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจรอบด้าน
- ซึ่งผลกระทบดังกล่าวมีผลต่อทำให้เกิดความเสี่ยงกับกองทุนรวมด้วย
3.ความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ (Credit Risk)
- เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากบริษัทหรือกองทุนมีการบริหารจัดการไม่ดีพอ
- อาจทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยได้ตามกำหนด
4.ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ลงทุน (Company Risk)
- เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากการบริหารจัดการของบริษัทที่กองทุนรวมเลือกเข้าไปลงทุน
- ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในรูปแบบใดก็ตาม
5.ความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง (Liquidity Risk)
- เกิดขึ้นเมื่อสินทรัพย์ที่กองทุนรวมลงทุนไว้มีอัตราการซื้อขายที่ไม่มากพอ
- ทำให้ขาดสภาพคล่องในการซื้อหรือขายกองทุนในราคาและจำนวนที่ต้องการ
6.ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของตลาด (Market Risk)
- หนึ่งในความเสี่ยงที่พร้อมเกิดขึ้นกับการลงทุนทุกประเภท
- เมื่อสภาวะของตลาดเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่
- ก็ย่อมส่งผลถึงราคาของหลักทรัพย์ที่ลงทุนไว้ในกองทุนรวมด้วยเช่นกัน

แนวทางการลดความเสี่ยงในการลงทุนกองทุนรวม

-
ถือครองกองทุนตามเวลาที่เหมาะสม
การจะทำให้ได้ผลตอบแทนของกองทุนที่ดีเกิดจากการถือกองทุนรวมในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยระยะที่เหมาะสมอยู่ในช่วง 3 – 12 เดือน ขึ้นอยู่กับประเภทของกองทุนรวมที่เลือกลงทุน
-
เลือกลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง
การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง คือ การจัดพอร์ตที่ผสมผสานทรัพย์สินที่ระดับความเสี่ยงสวนทางกันเพื่อกระจายความเสี่ยงเมื่อตลาดใดตลาดหนึ่งเกิดการผันผวน
-
ปรับพอร์ตการลงทุนให้สม่ำเสมอ
ควรมีการติดตามพอร์ตหลังการลงทุนสม่ำเสมอและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ โดยแนะนำให้มีการปรับพอร์ตในทุกๆ 3 เดือน แต่หากปรับเปลี่ยนบ่อยเกินอาจจะเจอปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย
จัดการพอร์ตกองทุนรวมยังไง ให้กระจายความเสี่ยงได้ดี
การจัดการพอร์ตการลงทุนถือเป็นหนึ่งสิ่งสำคัญและสามารถช่วยให้เรากระจายความเสี่ยงได้ดี ซึ่งรูปแบบการจัดพอร์ตที่แนะนำมี 3 รูปแบบ ดังนี้
รูปแบบที่ 1 พอร์ตแบบระมัดระวัง (Conservative)
- ระดับความเสี่ยง: ระดับต่ำ
- ผลตอบแทน: คาดหวังผลตอบแทนที่มากกว่าเงินฝาก
- เหมาะกับใคร: เหมาะกับผู้ที่รับความเสี่ยงได้น้อย ที่ต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนมากกว่าฝากเงิน
- สัดส่วนการลงทุนของพอร์ต: กองทุนตราสารเงิน 35%, กองทุนตราสารหนี้ 45%, กองทุนตราสารทุน 15% และกองทุนทองคำ 5%

รูปแบบที่ 2 พอร์ตแบบปานกลาง (Moderate)
- ระดับความเสี่ยง: ระดับปานกลาง
- ผลตอบแทน: มีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าพอร์ตแบบระมัดระวัง
- เหมาะกับใคร: เหมาะกับผู้ที่อาจมีภาระทางการเงินที่มากขึ้นทำให้ต้องจัดสรรเงินมาลงทุน
- สัดส่วนการลงทุนของพอร์ต: กองทุนตราสารเงิน 33%, กองทุนตราสารหนี้ 45%, กองทุนตราสารทุน 15% และกองทุนทองคำ 7%

รูปแบบที่ 3 พอร์ตแบบเชิงรุก (Aggressive)
- ระดับความเสี่ยง: ระดับสูง
- ผลตอบแทน: มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก แลกกับความเสี่ยงที่สูงขึ้นตาม
- เหมาะกับใคร: เหมาะกับผู้ชอบการลงทุนที่ท้าทายและรับความเสี่ยงได้ในระดับสูง แต่หากมีการจัดการที่ดีจะสามารถได้รับผลตอบแทนที่สูง
- สัดส่วนการลงทุนของพอร์ต: กองทุนตราสารเงิน 15%, กองทุนตราสารหนี้ 5%, กองทุนตราสารทุน 70% และกองทุนทองคำ 10%

ความสำคัญของการกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวม
- ลดความเสี่ยงโดยรวมของพอร์ตได้ดีกว่าการนำเงินไปลงทุนไว้ในที่เดียว
- ช่วยให้ได้รับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอมากขึ้น
- ช่วยป้องกันความผันผวนของตลาดอย่างกะทันหัน
- ปรับสมดุลทางการเงินให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี
- ช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการลงทุนระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น
- เพิ่มโอกาสในการเติบโตจากการลงทุนในกองทุนรวมที่หลากหลาย

ปัญหาที่อาจพบเจอของกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวม
การกระจายความเสี่ยงมีข้อเสียหรือปัญหาที่อาจพบเจอเมื่อใช้กลยุทธ์นี้ โดยข้อเสียที่อาจพบเจอกับการกระจายความเสี่ยงคือ
- เพิ่มความยุ่งยากในการจัดการพอร์ตที่มีกองทุนรวมหลากหลายตัว
- ค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายอาจสูงขึ้นตามจำนวนกองทุนรวมที่ถือไว้ ดังนั้นเวลาซื้อขายอาจต้องนำปัจจัยส่วนนี้ไปตัดสินใจด้วย
- อาจไม่เหมาะกับนักลงทุนหน้าใหม่หรือไม่มีประสบการณ์ในการบริหารพอร์ตที่มีกองทุนรวมหลายตัว
- แม้การกระจายความเสี่ยงคือ การลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่าจะลดความเสี่ยงทุกให้หายไปจนหมด
สรุป
- การกระจายความเสี่ยงช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการลงทุนกองทุนรวม
- ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนและช่วยบรรลุเป้าหมาย
- การกระจายความเสี่ยงในกองทุนรวมมีหลายรูปแบบให้นักลงทุนได้เลือกจัดพอร์ตแบบที่ตัวเองต้องการ
- การกระจายความเสี่ยงอาจไม่เหมาะกับนักลงทุนทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ประสบการณ์การบริหารพอร์ตหลายตัว
- ถึงแม้จะมีข้อเสียอยู่บ้าง แต่การกระจายความเสี่ยงถือเป็นอีกหนึ่งข้อสำคัญที่ควรรู้และนำไปปฏิบัติจริง