นักเขียนย่อให้
- กองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.)คือ: กองทุนที่ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระสามารถออมเงินเพื่อรับเงินบำนาญในวัยเกษียณ
- เหมาะสำหรับ: ผู้ประกอบอาชีพอิสระรวมถึงนักเรียน-นักศึกษาที่มีอายุ15ปีขึ้นไปแต่อายุไม่เกิน60ปี
- ข้อดี:รัฐช่วยจ่ายสมทบออมเท่าไหร่รัฐก็จะช่วยออมสมทบเข้าไปอีกสูงสุด 100% ของเงินออม
- อาชีพไหนก็สมัครได้: สมัครง่ายได้ทุกอาชีพอิสระ (ยกเว้นข้าราชการ)
เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาไม่มากก็น้อยว่า คนเป็นข้าราชการและทำงานประจำจะได้รับบำเหน็จบำนาญเมื่อเกษียณอายุ แต่คุณเคยสงสัยไหมว่าแล้วคนประกอบอาชีพอิสระจะเอาบำนาญมาจากไหน เพราะเราก็ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมเหมือนคนอื่น ๆวันนี้เราจะพามาเจาะลึกกองทุนที่เอาใจสายฟรีแลนซ์โดยเฉพาะกับ กองทุนการออมแห่งชาติเป็นกองทุนที่เหล่าฟรีแลนซ์สามารถออมเงินเพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณได้มาดูกันว่ากองทุนนี้คืออะไร น่าสนใจอย่างไรบ้าง
ภาพประกอบบทความ:ทำความรู้จักกับกอช. กองทุนที่ช่วยให้ประชาชนออมเงินเพื่ออนาคต พร้อมรับเงินสมทบจากรัฐบาลและสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อความมั่นคงในวัยเกษียณ
กองทุนการออมแห่งชาติคืออะไร
กองทุนการออมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า กอช. จัดเป็นกองทุนส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ ฟังดูเหมือนจะไม่ต่างจากกองทุนอื่น ๆ ใช่ไหมล่ะ? แต่จริง ๆ แล้วกองทุนนี้เขาเอาใจคนไทยที่ประกอบอาชีพอิสระโดยเฉพาะ เท่านั้นยังไม่พอ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา และกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ซึ่งไม่มีตัวช่วยจากภาครัฐ ก็สามารถออมเงินในกองทุนนี้ได้ด้วย
และเมื่อออมจนอายุครบ 60 ปี คุณก็จะได้รับเงินบำนาญตลอดชีพสูงสุด 12,000 บาทต่อเดือน และในกรณีเสียชีวิตหรือออกจากกองทุน ก็ยังจะได้รับเงินก้อนอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ในขณะที่คุณออมก็สามารถนำเงินออมสะสมไปลดหย่อนภาษีประจำปีได้อีกด้วย เริ่มออมตั้งแต่อายุยังน้อยเพื่อให้มียอดเงินในบัญชี กอช.เพียงพอที่จะได้รับเงินบำนาญในวัยเกษียณ
เงื่อนไขการออมเงินใน กอช.
- ออมได้ตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี
- ทุกครั้งที่เราออม รัฐก็จะช่วยออมสมทบเข้าไปอีกสูงสุด 100% ของเงินออม หรือไม่เกิน 1,200 บาท ต่อปีนั่นเอง
- รัฐค้ำประกันผลตอบแทนให้ นั่นหมายความว่าถึงแม้กองทุนนั้นจะลงทุนจนติดลบ แต่รัฐก็จะยังคงจ่ายเงินค้ำประกันให้เราอยู่ดี
- ออกจากกองทุนก่อนอายุครบ 60 ปี จะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐ ได้รับเพียงแค่เงินออมสะสมและผลตอบแทนเท่านั้น
ประวัติความเป็นมาของกองทุนการออมแห่งชาติ
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เริ่มจัดตั้งในวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 ซึ่งรวมระยะเวลามากกว่า10 ปี โดยกองทุนนี้ถือเป็นหน่วยงานของภาครัฐประเภทนิติบุคคล (จะไม่เกี่ยวกับส่วนของราชการหรือรัฐวิสาหกิจ)
- โดยมีวัตถุประสงค์สำหรับการจัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยส่งเสริมให้กลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอิสระได้มีตัวเลือกในการออมเงินระยะยาวเพื่อการเกษียณ
- ในปี พ.ศ. 2558 กระทรวงการคลังได้กำหนดเงื่อนไขว่า
- ให้สมาชิกต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้อยู่ในกองทุน รวมถึงระบบบำนาญอื่น ๆ ของหน่วยงานรัฐทั้งหมด 24 หน่วยงาน
- ข้าราชการและกลุ่มคนทำงานประจำที่อยู่ในระบบประกันสังคมไม่สามารถเข้าร่วมกองทุนนี้ได้ (ยกเว้นผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือก 1)
- ปัจจุบันกองทุนนี้เป็นหน่วยงานที่รัฐช่วยให้ประชาชนสามารถออมเงินโดยมีรัฐสมทบและค้ำประกันผมตอบแทน
ภาพประกอบบทความ:ความน่าสนใจของกองทุนการออมแห่งชาติ
ความน่าสนใจของกองทุนการออมแห่งชาติ
- มีความยืดหยุ่นสูง: เพราะเราไม่จำเป็นต้องออมเท่ากันทุกปี และถ้าไม่ได้ออมต่อเนื่อง กอช. ก็จะยังคงรักษาสิทธิการเป็นสมาชิก และนำเงินออมของเราไปบริหารให้เกิดประโยชน์
- ได้รับการค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุนทุกกรณี: ไม่ว่าการลงทุนจะมีผลบวกหรือติดลบ เราจะยังคงได้รับการค้ำประกันผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน เฉลี่ย 7 ธนาคาร (5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และ 2 ธนาคารรัฐ) เมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์
- ผลตอบแทนดี แม้ว่าการลงทุนของ กอช. จะติดลบ: เราก็จะยังคงได้รับผลตอบแทนจากการค้ำประกันของรัฐบาล ในขณะเดียวกันถ้ากองทุนได้รับผลตอบแทนสูง เราก็จะได้รับผลตอบแทนสูงตามไปด้วย
- เงินออมสะสมสามารถนําไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี: ช่วยให้สมาชิกอย่างเราจ่ายภาษีน้อยลง ถือเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายไปในตัว
- ความคุ้มค่าแบบ 3 ต่อ ต่อที่ 1 รับเงินสมทบจากรัฐบาลฟรี ตามช่วงอายุ, ต่อที่ 2 รัฐบาลคุ้มครองเงินต้นเต็มจำนวน และค้ำประกันผลตอบแทน และต่อที่ 3 สามารถนำยอดเงินออมไปลดหย่อนภาษีได้
ภาพประกอบบทความ:คุณสมบัติเบื้องต้นของผู้มีสิทธิ์สมัครเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสมาชิก กอช.
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีอาชีพอิสระไม่มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ สามารถมีเงินออมเพื่ออนาคตของตนเอง โดยมีเงื่อนไขการสมัครและคุณสมบัติดังนี้
ผู้สมัครมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป
ผู้สมัครต้องมีอายุ15ปีบริบูรณ์ขึ้นไป แต่ไม่เกินอายุ60ปี เพื่อให้สามารถมีเงินออมต่อเนื่องไปจนถึงช่วงวัยเกษียณ
มีสัญชาติไทยเท่านั้น
ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าผู้ที่ถือสัญชาติอื่นหรือชาวต่างชาติไม่มีสิทธิ์สามารถสมัครได้
เป็นผู้ประกันตนม.40 ทางเลือก1
สำหรับผู้ที่ใช้สิทธิ์ประกันสังคมต้องเป็นผู้ประกันตนม.40 ทางเลือก 1 เท่านั้น ซึ่งหมายถึงกลุ่มอาชีพอิสระหรือแรงงานนอกระบบที่สมัครใจจ่ายเงินสมทบประกันสังคมเอง
ต้องไม่อยู่ในระบบสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่น ๆ ของรัฐ
ผู้สมัครต้องไม่เป็นสมาชิกหรือได้รับสิทธิจากกองทุนบำเหน็จบำนาญอื่น ๆ ของหน่วยงานรัฐ เช่น กองทุนบำเหน็จข้าราชการ(กบข.), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐวิสาหกิจ หรือระบบเงินบำนาญของหน่วยงานภาครัฐ
ไม่เป็นข้าราชการประจำที่มีบำเหน็จ บำนาญ
ถ้าหากเป็นบุคคลที่ดำรงตำแหน่งข้าราชการประจำรวมถึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญจากภาครัฐอยู่แล้ว ในกรณีนี้เองจะไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกของกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) ได้
ภาพประกอบบทความ:วิธีเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ
วิธีเข้าร่วมกองทุนการออมแห่งชาติ
เราสามารถออมเงินในกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. ได้ง่ายมาก ๆ เพราะมีหลายช่องทางให้เลือกสมัคร สำหรับใครที่สนใจอยากจะเข้าร่วม สามารถทำการสมัครและส่งเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้ ดังนี้
- แอปพลิเคชัน กอช. (ไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ)
- สมัครผ่านเว็บไซต์ของกอช.โดยตรง โดยเข้าไปที่: https://eservice.nsf.or.th/
- สมัครด้วยตนเองผ่านธนาคารที่เข้าร่วมโครงการได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.), ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.), ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย
- สมัครได้ที่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำได้ที่ เคาน์เตอร์เซอร์วิสใน Lotus, Big C, ตู้บุญเติม และไปรษณีย์ไทย
- สำหรับผู้ที่อยู่ชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลสามารถสมัครได้ที่ ตัวแทนทั่วประเทศ ได้แก่ สำนักงานคลังจังหวัด, ที่ว่าการอำเภอ, ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน, สถาบันการเงินชุมชน และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ
สรุปภาพรวมเกี่ยวกับกองทุนการออมแห่งชาติ
ถึงแม้ว่าการออมเงินกับ กอช. จะได้รับผลตอบแทนค่อนข้างน้อยแต่มองว่าในอนาคตค่าเงินอาจจะไม่เพียงพอ แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์โดยรวมแล้วถือว่าคุ้มค่ามากเลยทีเดียว เพราะมีความเสี่ยงต่ำ ถ้าเราออมจนอายุครบ 60 ปี ก็จะได้รับทั้งผลตอบแทน เงินออมสะสม แถมยังได้เงินสมทบจากรัฐอีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเงินบำนาญที่ได้รับอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในยามเกษียณ
ดังนั้นคนทำอาชีพอิสระอย่างเรา ๆ จึงต้องตั้งเป้าหมายและวางแผนว่าในยามเกษียณอยากจะมีเงินใช้เดือนละเท่าไร นอกจากนี้อาจต้องมองหาการออมเงินประเภทอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้ชีวิตหลังเกษียณของเรามีเงินเพียงพอต่อความต้องการและใช้ชีวิตได้อย่างสุขสบาย อยากวางแผนการออมแต่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thaifunds.org/
อ้างอิง
https://www.thaigov.go.th/uploads/document/142/2017/02/pdf/หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการสมัคร.pdf
https://www.fpo.go.th/main/getattachment/48d0489e-9c2d-474c-804b-35f78d8a5824/3046.aspx